bih.button.backtotop.text

36 ปีบำรุงราษฎร์ เชิดชูอดีต เฉลิมฉลองปัจจุบัน ก้าวย่างสู่อนาคต

14 มกราคม 2559

17 กันยายน 2523 เป็นวันที่โรงพยาบาลเอกชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง เปิดตัวขึ้นภายในซอยสุขุมวิท 3 ด้วยเป้าหมายเพียงเพื่อต้องการเป็นโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล มีบริการที่น่าพึงพอใจ และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังมีโรงพยาบาลเอกชนเพียงไม่กี่แห่ง แลประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาบริการด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลของรัฐ

คงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่า 36 ปีต่อมา โรงพยาบาลเล็กๆแห่งนั้นจะกลายเป็นศูนย์การแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและเป็นความหวังของผู้ป่วยนับล้านคนในแต่ละปี


จากจุดเริ่มต้น

ชื่อ “บำรุงราษฎร์” หมายถึง “การดูแลประชาชน" อันเป็นชื่อที่คณะผู้ร่วมก่อตั้งเห็นพ้องต้องกันว่ามีความไพเราะและตรงกับความตั้งใจในการดำเนินกิจการโรงพยาบาล

ในระยะแรก บำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงที่มีเพียงอาคาร 7 ชั้น 1 อาคารสำหรับให้บริการในแผนกอายุรกรรม ศัลยกรรมและสูตินรีเวช โดยมีแพทย์ประจำเพียง 4 คนกับเจ้าหน้าที่อีกไม่กี่คนในแต่ละแผนก และมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหลักร้อยคนต่อวัน


แต่ด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ การดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยดุจญาติมิตรความพร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงการให้บริการที่เป็นเลิศ ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี โรงพยาบาลก็เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง


ในปี 2532 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้ชื่อ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด(มหาชน) ด้วยความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผู้คนในสังคมอันเป็นลักษณะเฉพาะของธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพที่ไม่สามารถคำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่เพียงด้านเดียวได้


ต่อมาเมื่อมีผู้เข้าใช้บริการเพิ่มมากขึ้น อาคาร7 ชั้นก็เริ่มคับแคบ แม้จะได้มีการเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยเป็น 400 เตียงแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการ แผนการก่อสร้างอาคารหลังใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น และวันที่ 15 มกราคม 2540 ก็ได้กลายเป็นวันแห่งความปลื้มปีติอย่างสูงสุดของชาวบำรุงราษฎร์ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่สูง 12 ชั้น มีพื้นที่มากถึง 70,262 ตร.ม.


ฝ่าวิกฤติ

เช่นเดียวกับเรื่องราวความสำเร็จของหลายธุรกิจที่ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เส้นทางการเติบโตของบำรุงราษฎร์ก็มีบททดสอบให้ต้องก้าวผ่านอยู่เป็นระยะ และบททดสอบที่ยากลำบากที่สุดก็เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อก่อนเข้าสู่ทศวรรษที่สองของโรงพยาบาลนั่นเอง เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสขึ้นภายในประเทศและลุกลามไปยังอีกหลายประเทศในทวีปเอเชีย

วิกฤติครั้งนั้นทำให้โรงพยาบาลมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวและต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ แต่ในขณะที่หลายบริษัทเลือกที่จะหยุดขยายงานและปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุน ผู้บริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กลับขอให้พนักงานใช้ช่วงเวลาที่จำนวนผู้ป่วยภายในประเทศลดลงในการฝึกฝนภาษาอังกฤษ และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตลาดต่างประเทศซึ่งได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่ลดลงอย่างมากมีการเสริมทีมแพทย์ให้แข็งแกร่ง โดย ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่มได้เริ่มชักชวนแพทย์ไทยในต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้กลับมาร่วมงานกับบำรุงราษฎร์ ในขณะเดียวกันก็นำเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมมากขึ้น


วิกฤติการณ์ทางการเงินในช่วงปี 2540จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและเป็นการกำหนดทิศทางใหม่ที่ชัดเจนและสร้างความแตกต่างให้กับบำรุงราษฎร์จนทุกวันนี้


ก้าวสู่เวทีโลก

เพียง 2 ทศวรรษโดยประมาณหลังการก่อตั้งบำรุงราษฎร์เริ่มได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติและได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากลตามมาตรฐานของ Joint Commission International (JCI) แห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2545 นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับมาตรฐานนี้


การยอมรับนี้ถูกตอกย้ำในการประชุมระดับนานาชาติหลายๆ ครั้ง ครั้งหนึ่ง มร.เคิร์ท ชโรเดอร์ อดีตผู้อำนวยการด้านบริหารของบำรุงราษฎร์ได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกพิเศษในการประชุม Council of Teaching Hospitals and Health Systems ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ตั้งคำถามต่อที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของโลกกว่าร้อยชีวิตว่ามีใครบ้างที่เคยได้ยินชื่อของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


“ปรากฏว่าผู้ฟังเกือบทั้งหมดยกมือ ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งที่คนเหล่านี้รู้จักโรงพยาบาลจากประเทศไทยที่มีชื่ออ่านยากสำหรับชาวต่างชาติและน่าทึ่งยิ่งกว่าเมื่อได้สนทนากับผู้บริหารระดับสูงหลายท่านและพบว่าโรงพยาบาลของเราเป็นที่รู้จักมากเพียงใด” นั่นคือสิ่งที่อดีตผู้บริหารของบำรุงราษฎร์บันทึกไว้ในนิตยสาร Better Health เมื่อปี 2553


“การยึดเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อมอบบริการทางการแพทย์ที่ ดีที่สุด คือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลัง การเติบโตอย่างมั่นคงของ บำรุงราษฎร์” 


เติบโตอย่างมั่นคง

บำรุงราษฎร์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2554 อาคารผู้ป่วยนอกสูง 21 ชั้นเริ่มเปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยจำนวนนับล้านคนจากทุกมุมโลก ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคที่มีความซับซ้อนและเดินทางมาด้วยความเชื่อมั่นว่าจะได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีเช่นเดียวกันกับบริการจากโรงพยาบาลชั้นนำของโลก


ยิ่งผู้ป่วยมีมากขึ้น แพทย์ก็มีโอกาสต่อยอดความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาได้ลึกซึ้งมากขึ้น ผลคือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์สามารถให้บริการทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้นเรื่อยๆในทศวรรษที่ 3 ของบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์ชั้นนำให้เป็น 1 ใน 10 ของโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก การยอมรับนี้มีความสำคัญไม่เฉพาะกับบำรุงราษฎร์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ความพยายามของภาครัฐและเอกชนที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับโลก หรือ Medical Hub ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาก่อเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม


ผู้อำนวยการด้านบริหารของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สรุปปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตอย่างมั่นคงของโรงพยาบาลว่าเกิดจากวัฒนธรรมองค์กรที่ได้รับการปลูกฝังมานับตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งนั่นคือ การยึดเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเพื่อมอบบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด


ปัจจุบันบำรุงราษฎร์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,300 คนครอบคลุมศาสตร์การรักษาเฉพาะทางมากกว่า 55 สาขา มีศูนย์แพทย์เฉพาะทางกว่า 30 ศูนย์ที่มีความชำนาญในการรักษา มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะไอบีเอ็มวัตสันเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง (IBM Watson for Oncology) การใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Arm Assisted Joint Replacement Surgery) หรือการลงทุนในศูนย์ฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยด้วยสถานการณ์เสมือนจริง (Simulation Training Center)

เหนือสิ่งอื่นใด คือการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบของแพทย์และบุคลากรในทุกสายงานเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นการให้บริการด้วยอัธยาศัยไมตรีอันเป็นคุณลักษณะพิเศษของคนไทยที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ป่วยมาโดยตลอด


สู่อนาคตที่ยั่งยืน

ภายในเวลาอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ บำรุงราษฎร์จะมีอาคารใหม่ๆ ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ศูนย์การแพทย์หลายศูนย์มีขนาดใหญ่ขึ้น มีคลินิกนอกสถานที่ทั้งในและต่างประเทศ มีจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรในสาขาต่างๆ เพิ่มมากขึ้นและหลากหลายสาขายิ่งขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากมายล้วนอยู่ในแผนการดำเนินงาน


บำรุงราษฎร์อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางกายภาพแต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่และจะไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือความมุ่งมั่นที่จะให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดด้วยความเอื้ออาทรและยึดถือหลักคุณธรรมแก่ผู้ป่วยของเราทุกคน ซึ่งเป็นพันธกิจที่โรงพยาบาลยึดถือมาตลอดระยะเวลา 36 ปี

17 กันยายน 2523

เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

2532

เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)

2537

เปิดอาคารแม่และเด็กสูง 16 ชั้น (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร BH Residence)

2540

เปิดให้บริการ ณ อาคารใหม่สูง 12 ชั้น ซึ่งมีพื้นที่รวมมากถึง 70,262 ตารางเมตร

2542

โรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาลไทย (Hospital Accreditation Thailand)

2543

โรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระบบงานองค์กร หรือ ISO 9000

2545

  • โรงพยาบาลแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากลตามมาตรฐานของ JCI แห่งสหรัฐอเมริกาและได้รับการรับรองต่อเนื่องในปี 2548, 2551, 2554 และ 2557 จนถึงปัจจุบัน
  • ได้รับรางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่นประเภท Outstanding Private Hospital

2546

ได้รับรางวัล “บริษัทที่มีเงินลงทุนขนาดเล็กยอดเยี่ยม” และ “บริษัทบริหารจัดการยอดเยี่ยม” จากนิตยสารเอเชียมันนี่และยังได้รับการรับรางวัลอีกครั้งในปี 2551

2548

  • ปรับชื่อใหม่เป็น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
  • ได้รับการเผยแพร่ทางรายการ “60 MINUTES” ทางสถานีโทรทัศน์ CBS ในสหรัฐอเมริกา

2551

  • เปิดอาคารผู้ป่วยนอกบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คลินิก
  • รับรางวัล AMDIS จาก Association of Medical Directors
  • of Information Systems
  • เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
  • ได้รับการโหวตจากผู้อ่านนิตยสาร Asian Wall Street Journal
  • ให้เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในประเทศไทย
  • ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ISO 15189:2003
  • เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับรางวัลส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  • ได้รับรางวัล “องค์กรที่มีนวัตกรรมยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

2552

ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “สถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน” ติดต่อกันทุกปีจนถึงปัจจุบัน

2553

  • ได้รับรางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่นประเภท Best Service Provider 2010
  • ได้รับรางวัลสถานพยาบาลดีเด่นด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  • ได้รับการรับรองมาตรฐานการรักษาเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรังและโรคเบาหวานจาก JCI แห่งสหรัฐอเมริกา

2555

  • ได้รับการยกย่องให้เป็น “1 ใน 50 องค์กรต้นแบบด้านความรับผิดชอบต่อสังคม” จัดทำข้อมูลโดยสถาบันไทยพัฒน
  • ได้รับรางวัล Trusted Brand Award จากรีดเดอร์ ไดเจสท์

2556

ได้รับรางวัล “องค์กรยอดเยี่ยมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม”และได้รับต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน

2557

  • นำระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ IBM Watson for Oncology มาใช้ในการวางแผนการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • ได้การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ตามโครงการ Westgard Sigma Verification
  • ได้รับรางวัลบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2558

  • เปิดอาคาร Bumrungrad Residence and Office
  • ได้รับการรับรอง “คุณภาพโรงพยาบาลและบริการสุขภาพขั้นก้าวหน้า” (A-HA Advance Hospital Accreditation)
  • ได้รับรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2015 ในสาขาความเป็นเลิศด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

2559

  • ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI เฉพาะโรคด้านการผ่าตัดข้อเข่าเทียม
  • เปิดคลินิกกายภาพบำบัดบำรุงราษฎร์ ณ อาคารเอไอเอ สาทร ทาวเวอร์
  • เปิดบำรุงราษฎร์ คลินิก ย่างกุ้ง
 

Bumrungrad by the numbers

บำรุงราษฎร์ได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ และมีอาคารผู้ป่วยนอกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยมีพื้นที่ให้บริการเฉพาะ 2 อาคาร มากถึง 127,468 ตร.ม. แต่นั่นเป็นเพียงตัวเลขบางส่วนของการเติบโตและพัฒนาทางกายภาพในช่วงเวลา 36 ปี เพราะยังมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกมากมายที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้ใน Better Health ฉบับนี้

  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา >1,300 คน
  • พยาบาลชำนาญการ >1,000 คน
  • พนักงานทั้งหมด 4,800 คน
  • บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ >300 คน
  • เจ้าหน้าที่ภาษาพิเศษ >150 คน
  • ให้บริการ 14 ภาษา
  • จำนวนผู้ป่วย 3,372 คนต่อวัน 1,230,780 ล้านคนต่อปี
  • ผู้ป่วยต่างชาติ 520,000 คนต่อปี จาก 190 ประเทศทั่วโลก
  • 580 เตียงผู้ป่วยใน
  • 275 ห้องตรวจ
  • สำนักงานตัวแทน 33 แห่งใน 18 ประเทศ
  • 33 ศูนย์รักษาเฉพาะทาง >100 สาขาความชำนาญเฉพาะทาง
  • ทารกเกิดใหม่ >2,000 รายต่อปี
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs