ปัจจุบัน การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีโปรแกรมการรักษาดังต่อไปนี้คือ
ขั้นตอนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ก่อนการฟอกเลือด ผู้ป่วยจะได้รับการตัดต่อหลอดเลือดเพื่อใช้ในการฟอกเลือด ซึ่งมี 3 วิธี ได้แก่
1. การนำหลอดเลือดดำต่อกับหลอดเลือดแดงบริเวณแขน หรือการทำ A-V fistula เพื่อให้หลอดเลือดดำใหญ่ขึ้น และมีแรงดันพอที่จะทำให้เลือดไหลเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้
2. การต่อหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดงโดยการใช้หลอดเลือดเทียมหรือ AV Graft
3. การใส่สายเข้าไปในหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ เพื่อต่อกับเครื่องไตเทียม
เมื่อตัดต่อหลอดเลือดเรียบร้อย ผู้ป่วยต้องรอสักระยะเพื่อให้หลอดเลือดพร้อมจึงจะเริ่มการฟอกเลือดได้ โดยหากเป็นการทำ A-V fistula จะต้องรอประมาณ 2-3 เดือน
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเหมาะกับใครบ้าง
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเหมาะกับ
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่มีผู้ช่วยสำหรับการล้างไตด้วยตัวเองที่บ้าน
- ผู้ป่วยสะดวกที่จะเดินทางมายังศูนย์ไตเทียม เนื่องจากการฟอกเลือดแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม และต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
- ผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
- มีโรคปวดหลังเรื้อรัง
- มีภาวะไส้เลื่อนออกมาทางผนังหน้าท้อง
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดต่อหลอดเลือดแล้วสามารถเข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้โดยไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่แพทย์แนะนำให้งดรับประทานยาบางชนิดก่อน เช่น ยาลดความดัน หรือให้งดอาหารระหว่างการฟอกเลือดเพื่อป้องกันการสำลัก ดังนั้นควรรับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนการฟอกเลือด
ข้อดีของการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการเปลี่ยนอวัยวะ เป็นการบำบัดในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนลงได้ เช่น ผู้ป่วยอาจได้รับการยาฆ่าเชื้อก่อนในกรณีที่มีโอกาสติดเชื้อ มีการตรวจติดตามความดันโลหิตและปริมาณเกลือแร่ในร่างกายเป็นระยะ มีการตรวจติดตามการเต้นของหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ภาวะแทรกซ้อนของการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่พบได้บ่อยคือ ภาวะความดันโลหิตต่ำเนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่เร็วเกินไป เกิดตะคริว มีไข้ คันตามร่างกาย นอนไม่หลับ มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน และมีการติดเชื้อในระบบทำน้ำบริสุทธิ์
การปฏิบัติตนภายหลังการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
การดูแลตัวเองของผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยข้อปฏิบัติหลักๆ ได้แก่
- ดูแลเส้นฟอกเลือดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ประเมินร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น ชั่งน้ำหนักและวัดความดันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- ใส่ใจเรื่องการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทานเอง หากมีความผิดปกติจากการใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- รับประทานอาหารให้เหมาะสม โดยต้องลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม เน้นผัก ผลไม้ และโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ
- ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ