bih.button.backtotop.text

ศูนย์พันธุศาสตร์เชิงป้องกัน และสุขภาพครอบครัว

ข้อมูลศูนย์

คำกล่าวที่ว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" เป็นความจริงทางการแพทย์ที่เห็นได้ชัดว่า การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้นย่อมดีกว่าการรักษาเมื่อเป็นโรคแล้ว แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีความเสี่ยงจะเป็นโรคหนึ่งโรคใดก่อนที่โรคจะเกิดขึ้น

ในปัจจุบันเรามีการตรวจทางด้านเวชพันธุศาสตร์ (Genomic Medicine) ที่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของแต่ละคน ช่วยทำให้เราทราบล่วงหน้าถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ และสามารถวางแผนป้องกัน หลีกเลี่ยงปัจจัยสาเหตุของการเกิดโรคนั้นๆ ได้แต่เนิ่นๆ

ตัวอย่างที่เป็นข่าวไปทั่วโลกในกรณีของ แอนเจลีนา โจลี (นักแสดงหญิงชาวอเมริกัน) ที่คุณแม่ของเธอเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 56 ปี เธอจึงได้ตรวจหารหัสพันธุกรรมของมะเร็งเต้านมซึ่งพบว่าเธอมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมถึงร้อยละ 87 ในตลอดอายุขัยของเธอ แอนเจลีนาจึงตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมจนเหลือความเสี่ยงเพียงร้อยละ 5 

ยีนส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างไร
ยีนนอกจากทำให้เรามีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใครแล้ว ยังสามารถบอกถึงความเสี่ยงทางสุขภาพของเรา เนื่องจากโรคบางอย่าง สามารถส่งผ่านไปสู่คนในครอบครัว เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ และโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ 

ความเข้าใจถึงความเสี่ยงดังกล่าว จะช่วยให้เราสามารถเตรียมการในการป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม

การตรวจยีนคืออะไร?
โดยทั่วไปการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์พิจารณาจากประวัติและอาการของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก ส่วนการตรวจหารหัสพันธุกรรมเป็นการตรวจเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติโดยการวิเคราะห์เซลล์หรือเนื้อเยื่อของคุณจากการเก็บตัวอย่างจากเลือดเซลล์จากกระพุ้งแก้ม หรือจากน้ำคร่ำในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ และในบางกรณีอาจมีการใช้ตัวอย่างจากเส้นผม น้ำลาย หรือผิวหนัง การเก็บตัวอย่างดังกล่าวอาจเก็บได้จากที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลซึ่งจะถูกส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการที่โรงพยาบาลเพื่อทำการทดสอบและวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเวชพันธุศาสตร์ ซึ่งจะพบกับผู้ป่วย (ผู้รับการตรวจ) เพื่อแจ้งผลการตรวจและให้คำปรึกษาต่อไป

การตรวจยีนมีประโยชน์อย่างไร
การตรวจรหัสพันธุกรรมช่วยให้แพทย์ได้ข้อมูลที่แม่นยำและเชื่อถือได้สำหรับใช้ในการให้คำแนะนำเรื่องการรักษาหรือการตรวจติดตามผล

ประโยชน์สำคัญของการตรวจพันธุกรรม :

  • ช่วยคาดการณ์ถึงสุขภาพในอนาคต ทำให้วางแผนในการป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม
  • ลดความเสี่ยงของการแพ้ยาและช่วยคาดการณ์ถึงการตอบสนองต่อยา ทำให้เลือกยาและปริมาณยาได้อย่างเหมาะสม
  • เป็นแนวทางในการวางแผนให้กับบุคคลในครอบครัวเมื่อตรวจพบโรคและภาวะพันธุกรรมบางอย่าง

การเข้าใจยีนของเราจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจเรื่องสุขภาพของตนและของครอบครัว

ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการตรวจหารหัสพันธุกรรม ได้แก่
คู่สามีภรรยาที่วางแผนจะสร้างครอบครัว - การตรวจรหัสพันธุกรรมจะเกิดประโยชน์ดังนี้ :

  • ค้นหาว่าผู้ที่จะเป็นพ่อและแม่นั้นจะมียีนผิดปกติที่สามารถส่งต่อโรคไปยังลูกหรือไม่
  • ค้นหาความผิดปกติของรหัสพันธุกรรมในตัวอ่อนก่อนฝังเข้าสู่โพรงมดลูก ในกรณีที่ผสมตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น จากการทำเด็กหลอดแก้ว
  • การตรวจหาความผิดปกติของรหัสพันธุกรรมที่จะก่อโรคในทารก
  • การค้นหาโรคทางพันธุกรรมในทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา

ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือผู้ที่สนใจต้องการทราบว่าตนมีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมต่างๆ เหล่านี้หรือไม่

  • โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และอื่นๆ
  • ในผู้ที่เป็นโรคแล้วต้องการตรวจหาว่าเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่ 
  • ผู้ที่ต้องการทราบว่า โรคที่เป็นจะมีโอกาสรุนแรงมากน้อยเพียงใด
  • ช่วยให้แพทย์เข้าใจว่า ยาชนิดใดและขนาดไหนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ

การบริการตรวจยีนที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ที่บำรุงราษฎร์ การตรวจยีนดำเนินการในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองระดับโลก โดยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ ทำให้แปลผลได้อย่างแม่นยำ ร่วมกับทีมแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาที่เกี่ยวข้องในการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบองค์รวม

ที่บำรุงราษฎร์ เราใช้เทคโนโลยี Next-Generation Sequencing (NGS) เพื่อวิเคราะห์การถอดรหัสของยีนจำนวนมากในเวลาเดียวกัน กระบวนการนี้รวดเร็วและแม่นยำ ทำให้แพทย์ได้รับผลการตรวจโดยเร็ว ช่วยให้สามารถประเมินความเสี่ยงของโรค ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้แต่เนิ่นๆ

ศูนย์พันธุศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพครอบครัว ให้บริการที่ครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย การให้คำปรึกษา การตรวจคัดกรองโรคการประเมินความเสี่ยงของโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และการทดสอบทางเภสัชพันธุศาสตร์สำหรับการเลือกใช้ยา การปรับขนาดยา และการป้องกันการแพ้ยา ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางพันธุกรรมและผู้ที่ใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัวจึงนับเป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์อย่างมากจากบริการดังกล่าว

 

 

ที่บำรุงราษฎร์ให้บริการตรวจยีนเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคดังนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคทางพันธุกรรม (Genetic disorders)
เป็นโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงลำดับดีเอ็นเอบางส่วน หรือดีเอ็นเอทั้งหมด ทำให้ลำดับดีเอ็นเอมีความผิดปกติไป สาเหตุอาจมาจากการกลายพันธุ์ของยีนเพียงยีนเดียว (monogenic disorder) การกลายพันธุ์ของยีนหลายยีน (multifactorial inheritance disorder) การกลายพันธุ์ของยีนประกอบกับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือเกิดจากความเสียหายของโครโมโซม

ความรู้ทางด้านพันธุศาสตร์ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เราทราบว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โรคบางโรคอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือจากพ่อแม่สู่รุ่นลูก (Germline mutation) เช่น โรคซิสติก ไฟโบรซิสและโรคมะเร็งบางชนิด ในขณะที่โรคบางโรคเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่เกิดขึ้นเอง (Somatic mutation) จากสาเหตุ เช่น การสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การติดเชื้อไวรัสบางชนิดและวัยที่สูงขึ้น เช่น โรคมะเร็งหลายชนิด


โรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อย
โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมมีมากมายหลายชนิด ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของสารพันธุกรรม แต่ที่พบได้บ่อยนั้น ได้แก่

  • โรคถุงน้ำในไต (Polycystic kidney disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีน PKD1 ทำให้ผู้ป่วยมีถุงน้ำในไตจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ถุงน้ำอาจมีขนาดแตกต่างกันและกระจายไปทั่วเนื้อไต ทำให้เนื้อไตส่วนดีเหลือน้อยลง ส่งผลให้การทำงานของไตเสื่อมและกลายเป็นโรคไตเรื้อรังในระยะสุดท้าย จนเกิดภาวะไตวายและเสียชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง นิ่วและการติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคถุงน้ำจากพันธุกรรมอาจไม่แสดงอาการใดๆเป็นเวลาหลายสิบปีจึงเริ่มแสดงอาการเมื่ออยู่ในช่วงวัย 30-40 ปี

  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease) โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างคล้ายเคียว ไม่สมบูรณ์ มีอายุสั้นและแตกสลายได้ง่าย ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดจาง นอกจากนี้ยังทำให้มีอาการปวดแขน เท้าบวมและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ภาวะตับวาย ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงและโรคหลอดเลือดสมอง

  • โรคซีสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน ทำให้ร่างกายสร้างเมือกที่เหนียวข้นกว่าปกติในปอด ไอขับออกมาได้ยาก ส่งผลให้หายใจลำบากและปอดติดเชื้ออย่างรุนแรงได้ เมือกเหนียวข้นนี้ยังขัดขวางการหลั่งเอนไซม์ที่ใช้ย่อยอาหารในตับอ่อนทำให้ระบบย่อยอาหารมีปัญหาและทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้ นอกจากนี้เมือกยังไปอุดตันท่อที่เชื่อมอัณฑะกับต่อมลูกหมาก ทำให้เป็นหมัน สำหรับเพศหญิงจะทำให้ตั้งครรภ์ยาก

  • โรคประสาทชักกระตุก (Huntington’s disease) เกิดจากการกลายพันธุ์ในยีนฮันติงตัน ทำให้สร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมา ส่งผลให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมองที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ตั้งแต่การเคลื่อนไหว สติปัญญา ไปจนถึงพฤติกรรมและจิตใจ เซลล์สมองจะค่อยๆเสื่อมลงจนทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และเกิดภาวะสมองเสื่อมในที่สุด รวมถึงมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ ปอดบวมและการพลัดตกหกล้ม ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายในระยะเวลา 20 ปีหลังเริ่มมีอาการ

  • โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้มีอาการซีด เหลือง โดยทั่วไปผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหากอาการไม่รุนแรง ในรายที่เป็นชนิดรุนแรงจะมีการเปลี่ยนแปลงของใบหน้า เช่น หน้าผากใหญ่ โหนกแก้มสูง รวมถึงเจริญเติบโตช้า ตับม้ามโต ติดเชื้อได้ง่ายและกระดูกเปราะ

  • โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดออกง่ายและหยุดยาก เป็นโรคที่พบได้ในเพศชายเท่านั้น เพศหญิงที่มียีนของโรคเป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการ อาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคน้อย มักไม่มีอาการเลือดออกจนกว่าจะได้รับอุบัติเหตุ ผ่าตัดหรือถอนฟันและพบว่าเลือดไหลไม่หยุด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะมีรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีเลือดออกในกล้ามเนื้อและข้อต่อ นอกจากนี้ยังอาจมีเลือดออกในอวัยวะอื่นๆ เช่น ทางเดินอาหารและสมอง

  • ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ส่วนใหญ่เกิดจากการมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมาหนึ่งแท่ง ทำให้พัฒนาการด้านสติปัญญาและทางด้านร่างกายล่าช้า ลักษณะภายนอกมีลักษณะเฉพาะ คือ  หน้าแบน หัวแบน จมูกแบน ปากเปิดออก หูมีขนาดเล็ก หางตาชี้ขึ้น คอสั้น ใบหน้ากลม มือสั้นและกว้าง ตัวเตี้ยและส่วนใหญ่จะอ้วนเมื่อโตขึ้น ภาวะแทรกซ้อนมีได้หลายประการ เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไทรอยด์ สูญเสียการได้ยิน ต้อกระจกและภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้ยังผู้ป่วยยังติดเชื้อได้ง่าย ปัจจัยเสี่ยงในการตั้งครรภ์ทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรม คือสตรีที่ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมากกว่า 35 ปี เคยคลอดบุตรเป็นดาวน์ซินโดรมมาก่อนหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นดาวน์ซินโดรม

  • โรคตาบอดสี (Color blindness) โรคตาบอดสีเกิดได้จากหลายสาเหตุแต่ที่พบได้บ่อยคือ การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เกิดจากความบกพร่องของเซลล์รับสีที่อยู่ในดวงตา บริเวณด้านหลังของดวงตาในส่วนของจอประสาทตาจะมีเซลล์รูปกรวย ซึ่งในเซลล์รูปกรวยจะมีเซลล์รับสี เมื่อเซลล์รับสีผิดปกติไป การรับรู้สีจะผิดเพี้ยนไม่ตรงกับความจริงไปด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกแยะสีแดงกับสีเขียวออกจากกันได้ หากเป็นโรคตาบอดสีขั้นรุนแรง จะเห็นได้แต่สีเทา สีดำหรือสีขาวเท่านั้น


ความเสี่ยงโรคมะเร็ง
โรคมะเร็งเกิดจากยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกายมีการกลายพันธุ์ ทำให้เซลล์ในร่างกายแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด การกลายพันธุ์ของยีนอาจเกิดขึ้นเองหรือถูกกระตุ้นจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อมหรือการสัมผัสสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้การกลายพันธุ์ของยีนยังอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือจากพ่อแม่สู่รุ่นลูก  ซึ่งการกลายพันธุ์นี้สามารถถ่ายทอดต่อไปยังรุ่นลูกหลานได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด (Germline mutations) โรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยมีดังนี้ มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งจอประสาทตา มะเร็งตับอ่อน มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งไทรอยด์


ภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม (Familial hypercholesterolemia)

เกิดจากมีการกลายพันธุ์ของยีนบางยีนที่ทำให้เกิดภาวะไขมันเลวในเลือดสูง โดยยีนที่พบการกลายพันธุ์ได้บ่อยคือยีนชนิดหนึ่งเรียกว่า LDL receptor ทำให้ร่างกายกำจัดไขมันเลวออกจากเลือดได้ไม่ดี ส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง นอกจากนี้ไขมันเลวจะสามารถสะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หากไปสะสมในหลอดเลือดหัวใจจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือหลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัว (Atheromas) ทำให้ผู้ที่มีภาวะไขมันสูงจากพันธุกรรมมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย

 

โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก (Inborn errors of metabolism)

กลุ่มโรคพันธุกรรมประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยโรคกว่า 700 โรค ทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือพิการรุนแรงในทารกและมักเกิดซ้ำในครอบครัวเนื่องจากเป็นโรคยีนแฝง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ไม่สามารถสร้างโปรตีนหรือเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการสร้างหรือสลายสารต่าง ๆ ในร่างกายได้ ส่งผลให้รบกวนกระบวนการเมแทบอลิซึม และเป็นพิษต่ออวัยวะต่าง ๆ


ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 
ยีนเป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดในหลายแง่มุม เมื่อยีนมีการกลายพันธุ์ จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิดสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตันและภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้นเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุไม่มากหรือเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ สมาชิกคนอื่นในครอบครัวควรตรวจหาความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจถึงแม้ยังไม่แสดงอาการใดๆออกมา

ความเสี่ยงในการแพ้ยา
คนแต่ละคนมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกันออกไป ยาบางชนิดอาจมีประสิทธิภาพในการรักษากับคนๆหนึ่งมากกว่าคนอีกคนหนึ่ง นอกจากนี้บางคนอาจมีการตอบสนองต่อยาที่มากเกินไปหรือที่เรียกว่าการแพ้ยา ทำให้มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยหรือปานกลาง เช่น ผื่นคัน บวม มีไข้ ไปจนถึงอาการแพ้อย่างรุนแรง ส่งผลให้การทำงานของร่างกายผิดปกติและมีอันตรายถึงชีวิต เช่น หลอดลมหดตัวทำให้หายใจลำบาก ปากและลิ้นบวมจนอุดกั้นทางเดินหายใจ ท้องเสีย ความดันโลหิตต่ำ มีอาการชักและสูญเสียการรับรู้ เป็นต้น การตรวจยีนช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยาที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้ป่วย ลดโอกาสในการแพ้ยา นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาเพราะแพทย์สามารถสั่งยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยได้ตั้งแต่แรกโดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิด ลองถูก

 

อยากทราบว่าคุณมีความเสี่ยงจากโรคร้ายหรือไม่?
ทำแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยง

EDM-Genomics-DNA-01.png
 

นพ. ชนินทร์ ลิ่มวงศ์

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

พยาธิวิทยาคลินิก
อายุรศาสตร์ - พันธุกรรม

ดูประวัติ

นพ. ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

อายุรศาสตร์
อายุรศาสตร์ - พันธุกรรม

ดูประวัติ

ผศ.นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

อายุรศาสตร์ - พันธุกรรม
อายุรศาสตร์โรคหัวใจ - โรคหัวใจทางพันธุกรรม

ดูประวัติ

พ.อ.(พ) ผศ.นพ. กิตติ บูรณวุฒิ

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

อายุรศาสตร์ - พันธุกรรม

ดูประวัติ

นพ. ทิม เพชรทอง

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

กุมารเวชศาสตร์ - กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป
กุมารเวชศาสตร์ - กุมารเวชศาสตร์พันธุศาสตร์

ดูประวัติ

นพ. นิธิวัชร์ วัฒนวิจารณ์

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

กุมารเวชศาสตร์ - กุมารเวชศาสตร์พันธุศาสตร์

ดูประวัติ

นพ. เจนวิทย์ วงศ์บุญสิน

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

อายุรศาสตร์ - พันธุกรรม
อายุรศาสตร์ - ไตวิทยา

ดูประวัติ

Related Package

Contact Number

  • บริการพบแพทย์ผ่าน VDO call (Tele-Consultation) คลิก

Service Hours

  • ศูนย์พันธุศาสตร์เชิงป้องกัน และสุขภาพครอบครัว
    ทุกวัน 8.00-18.00 น.
  • เนื่องจากสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางโรงพยาบาลฯ อาจมีการปรับเปลี่ยนเวลาในการให้บริการของแต่ละคลินิกตามความเหมาะสมของสถานการณ์ จึงขอความกรุณาทำการนัดหมายแพทย์ล่วงหน้า หรือสอบถามเวลาการให้บริการได้ที่ 1378

Location

  • ศูนย์พันธุศาสตร์เชิงป้องกัน และสุขภาพครอบครัว
    คลินิกพันธุศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพครอบครัว อาคาร B ชั้น3 
คะแนนโหวต 9.20 of 10, จากจำนวนคนโหวต 5 คน

Related Health Blogs